วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
 
 
ไปยังการนำทางไปยังการค้นหา
 
วันมาฆบูชา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" เพราะเป็นวันที่พระพุทธองค์ประทานหลักโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหัวใจของพระธรรม แก่พระอรหันตสาวกผู้เป็นเอหิภิกขุทั้ง 1,250 รูปที่มาประชุมพร้อมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายในวันมาฆปุรณมี

วันมาฆบูชา (บาลีMāgha Pūjā, มาฆปูชาอักษรโรมันMagha Puja) เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย[1] "มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือมีเดือน 8 สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 3 หลัง (วันเพ็ญเดือน 4)[2]

วันมาฆบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา คัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่าครั้งนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3[3] ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4[4]

เดิมนั้นไม่มีพิธีมาฆบูชาในประเทศพุทธเถรวาท จนมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น[5] การประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา คือ มีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ และมีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระอารามหลวงต่าง ๆ เป็นต้น ในช่วงแรก พิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป ต่อมา ความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร

ปัจจุบัน วันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย[1] โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์[6] พระสงฆ์และประชาชนประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวที่ถือได้ว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์[7] ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันมาฆบูชาเป็น "วันกตัญญูแห่งชาติ" เนื่องจากในสังคมไทยปัจจุบัน หญิงสาวมักเสียตัวในวันวาเลนไทน์ หลายหน่วยงานจึงพยายามรณรงค์ให้วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรัก (อันบริสุทธิ์) แทน

เนื้อหา

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันมาฆบูชาตามพุทธประวัติ

จาตุรงคสันนิบาต

 
กลุ่มป่าไผ่ร่มรื่น ในกลุ่มโบราณสถานวัดเวฬุวันมหาวิหาร สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถามหาปทานสูตร ระบุว่าหลังจากพระพุทธเจ้าเทศนา "เวทนาปริคคหสูตร" (หรือทีฆนขสูตร) ณ ถ้ำสูกรขาตา เขาคิชฌกูฎ จบแล้ว ทำให้พระสารีบุตรได้บรรลุอรหัตตผล จากนั้นพระองค์ได้เสด็จทางอากาศไปปรากฏ ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ แล้วทรงประกาศโอวาทปาติโมกข์แก่พระภิกษุจำนวน 1,250 รูป โดยจำนวนนี้เป็นบริวารของชฏิลสามพี่น้อง 1,000 รูป และบริวารของพระอัครสาวก 250 รูป[8]

คัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่า การประชุมสาวกครั้งนั้นประกอบด้วย "องค์ประกอบอัศจรรย์ 4 ประการ" คือ[3]

  1. วันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3
  2. พระภิกษุทั้ง 1,250 องค์นั้น ได้มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
  3. พระภิกษุเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา 6
  4. พระภิกษุเหล่านั้นไม่ได้ปลงผมด้วยมีดโกน เพราะพระพุทธเจ้าประทาน "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" ด้วยพระองค์เอง

ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 ดังกล่าวแล้ว

ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาตุรงคสันนิบาต (มาจากศัพท์บาลี จาตุร+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช)

มีผู้เข้าใจผิดว่าเหตุที่พระสาวกทั้ง 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายนั้น เพราะวันเพ็ญเดือน 3 ตามคติพราหมณ์เป็นวันพิธีมหาศิวาราตรีเพื่อบูชาพระศิวะ พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนจึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัวกันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์ มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน[9] แต่ความคิดนี้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะพระศิวะเป็นเทพที่ชาวฮินดูเริ่มบูชากันในยุคหลังพุทธกาล คือตั้งแต่ พ.ศ. 800 เป็นต้นมา[10]

ประทานโอวาทปาติโมกข์

ดูบทความหลักที่: โอวาทปาติโมกข์

พระพุทธเจ้าเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาตอันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว จึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง "โอวาทปาติโมกข์" อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น มีใจความดังนี้[7]

  • พระพุทธพจน์คาถาแรกทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ดังพระบาลีว่า "นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา"
  • พระพุทธพจน์คาถาที่สองทรงกล่าวถึง "วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ" คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง ส่วนนี้เองของโอวาทปาฏิโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำกันไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งคาถาในสามคาถากึ่งของโอวาทปาฏิโมกข์เท่านั้น
  • ส่วนพระพุทธพจน์คาถาสุดท้าย ทรงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา 6 ประการ คือ การไม่กล่าวร้ายใคร, การไม่ทำร้ายใคร , การมีความสำรวมในปาติโมกข์ทั้งหลาย, การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ,การรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด และบำเพ็ญเพียรในอธิจิต

สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันมาฆบูชา (พุทธสังเวชนียสถาน)

จุดหมายแสวงบุญใน
แดนพุทธภูมิ
Dharma wheel.svg
พุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล
ลุมพินีวัน • พุทธคยา
สารนาถ • กุสินารา
เมืองสำคัญในสมัยพุทธกาล
สาวัตถี • ราชคฤห์
สังกัสสะ • เวสาลี
ปาฏลีบุตร • คยา
โกสัมพี • กบิลพัสดุ์
เทวทหะ • เกสเรียสถูป
ปาวา • พาราณสี
นาลันทา
อารามสำคัญในสมัยพุทธกาล
วัดเวฬุวันมหาวิหาร
วัดเชตวันมหาวิหาร
สถานที่สำคัญหลังพุทธกาล
สาญจิ • มถุรา
ถ้ำเอลโลรา • ถ้ำอชันตา
มหาวิทยาลัยนาลันทา
ดูบทความหลักที่: ราชคฤห์ และวัดเวฬุวันมหาวิหาร
 
พระพุทธรูปยืนกลางมณฑลมหาสังฆสันนิบาต ในโบราณสถานวัดเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ รัฐพิหาร อินเดีย (เป็นพระพุทธรูปสร้างใหม่ ปัจจุบันเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก)

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันมาฆบูชา เกิดภายในบริเวณที่ตั้งของ "กลุ่มพุทธสถานโบราณวัดเวฬุวันมหาวิหาร" ภายในอาณาบริเวณของวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งลานจาตุรงคสันนิบาตอันเป็นจุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชานั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงและหาข้อสรุปทางโบราณคดีไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน

วัดเวฬุวันมหาวิหาร

"วัดเวฬุวันมหาวิหาร" เป็นอาราม (วัด) แห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต บนริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดีซึ่งมีตโปธาราม (บ่อน้ำร้อนโบราณ) คั่นอยู่ระหว่างกลาง นอกเขตกำแพงเมืองเก่าราชคฤห์ (อดีตเมืองหลวงของแคว้นมคธรัฐพิหาร ประเทศอินเดียในปัจจุบัน (หรือแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล)[11]

วัดเวฬุวันในสมัยพุทธกาล

เดิมวัดเวฬุวันเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จประพาสของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นสวนป่าไผ่ร่มรื่นมีรั้วรอบและกำแพงเข้าออก เวฬุวันมีอีกชื่อหนึ่งปรากฏในพระสูตรว่า "พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน"[12] หรือ "เวฬุวันกลันทกนิวาป" (สวนป่าไผ่สถานที่สำหรับให้เหยื่อแก่กระแต)[13] พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายพระราชอุทยาน[14] แห่งนี้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาหลังจากได้สดับพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถาและจตุราริยสัจจ์[15] ณ พระราชอุทยานลัฏฐิวัน (พระราชอุทยานสวนตาลหนุ่ม) โดยในครั้งนั้นพระองค์ได้บรรลุพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา และหลังจากการถวายกลันทกนิวาปสถานไม่นาน อารามแห่งนี้ก็ได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์ประชุมจาตุรงคสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา อันเป็นเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา

วัดเวฬุวันหลังการปรินิพพาน

หลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน วัดเวฬุวันได้รับการดูแลมาตลอด โดยเฉพาะมูลคันธกุฎีที่มีพระสงฆ์เฝ้าดูแลทำการปัดกวาดเช็ดถูปูลาดอาสนะและปฏิบัติต่อสถานที่ ๆ พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ทุก ๆ แห่ง เหมือนสมัยที่พระพุทธองค์ทรงพระชนม์ชีพอยู่มิได้ขาด โดยมีการปฏิบัติเช่นนี้ติดต่อกันกว่าพันปี

แต่จากเหตุการณ์ย้ายเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธหลายครั้งในช่วง พ.ศ. 70 ที่เริ่มจากอำมาตย์และราษฎรพร้อมใจกันถอดกษัตริย์นาคทัสสก์แห่งราชวงศ์ของพระเจ้าพิมพิสารออกจากพระราชบัลลังก์ และยกสุสูนาคอำมาตย์ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าลิจฉวีในกรุงเวสาลีแห่งแคว้นวัชชีเก่า ให้เป็นกษัตริย์ตั้งราชวงศ์ใหม่แล้ว พระเจ้าสุสูนาคจึงได้ทำการย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธไปยังเมืองเวสาลีอันเป็นเมืองเดิมของตน และกษัตริย์พระองค์ต่อมาคือพระเจ้ากาลาโศกราช ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุสูนาค ได้ย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธอีก จากเมืองเวสาลีไปยังเมืองปาตลีบุตร ทำให้เมืองราชคฤห์ถูกลดความสำคัญลงและถูกทิ้งร้าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัดเวฬุวันขาดผู้อุปถัมภ์และถูกทิ้งร้างอย่างสิ้นเชิงในช่วงพันปีถัดมา[16]

โดยปรากฏหลักฐานบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วงปี พ.ศ. 942–947 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 (พระเจ้าวิกรมาทิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ว่า เมืองราชคฤห์อยู่ในสภาพปรักหักพัง แต่ยังทันได้เห็นมูลคันธกุฎีวัดเวฬุวันปรากฏอยู่ และยังคงมีพระภิกษุหลายรูปช่วยกันดูแลรักษาปัดกวาดอยู่เป็นประจำ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกถึงสถานที่เกิดเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตแต่ประการใด

แต่หลังจากนั้นประมาณ 200 ปี วัดเวฬุวันก็ถูกทิ้งร้างไป ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง (Hiuen-Tsang) ซึ่งได้จาริกมาเมืองราชคฤห์ราวปี พ.ศ. 1300 ซึ่งท่านบันทึกไว้แต่เพียงว่า ท่านได้เห็นแต่เพียงซากมูลคันธกุฎีซึ่งมีกำแพงและอิฐล้อมรอบอยู่เท่านั้น (ในสมัยนั้นเมืองราชคฤห์โรยราถึงที่สุดแล้ว พระถังซำจั๋งได้แต่เพียงจดตำแหน่งที่ตั้งทิศทางระยะทางของสถูปและโบราณสถานเก่าแก่อื่น ๆ ในเมืองราชคฤห์ไว้มาก ทำให้เป็นประโยชน์แก่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีในการค้นหาโบราณสถานต่าง ๆ ในเมืองราชคฤห์ในปัจจุบัน)

จุดแสวงบุญและสภาพของวัดเวฬุวันในปัจจุบัน

ปัจจุบันหลังถูกทอดทิ้งเป็นเวลากว่าพันปี และได้รับการบูรณะโดยกองโบราณคดีอินเดียในช่วงที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ วัดเวฬุวัน ยังคงมีเนินดินโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขุดค้นอีกมาก สถานที่สำคัญ ๆ ที่พุทธศาสนิกชนในปัจจุบันนิยมไปนมัสการคือ "พระมูลคันธกุฎี" ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ทำการขุดค้น เนื่องจากมีกุโบร์ของชาวมุสลิมสร้างทับไว้ข้างบนเนินดิน, "สระกลันทกนิวาป" ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้ทำการบูรณะใหม่อย่างสวยงาม, และ "ลานจาตุรงคสันนิบาต" อันเป็นลานเล็ก ๆ มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่กลางซุ้ม ลานนี้เป็นจุดสำคัญที่ชาวพุทธนิยมมาทำการเวียนเทียนสักการะ (ลานนี้เป็นลานที่กองโบราณคดีอินเดียสันนิษฐานว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในจุดนี้)[17]

จุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา (ลานจาตุรงคสันนิบาต)

ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตจะเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งที่เกิดในบริเวณวัดเวฬุวันมหาวิหาร แต่ทว่าไม่ปรากฏรายละเอียดในบันทึกของสมณทูตชาวจีนและในพระไตรปิฎกแต่อย่างใดว่าเหตุการณ์ใหญ่นี้เกิดขึ้น ณ จุดใดของวัดเวฬุวัน รวมทั้งจากการขุดค้นทางโบราณคดีก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการทำเครื่องหมาย (เสาหิน) หรือสถูประบุสถานที่ประชุมจาตุรงคสันนิบาตไว้แต่อย่างใด (ตามปกติแล้วบริเวณที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา มักจะพบสถูปโบราณหรือเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างหรือปักไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับผู้แสวงบุญ) ทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถทราบโดยแน่ชัดว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตเกิดขึ้นในจุดใดของวัด

ในปัจจุบันกองโบราณคดีอินเดียได้แต่เพียงสันนิษฐานว่า "เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในบริเวณลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป" (โดยสันนิษฐานเอาจากเอกสารหลักฐานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีพระสงฆ์ประชุมกันมากถึงสองพันกว่ารูป และเกิดในช่วงที่พระพุทธองค์พึ่งได้ทรงรับถวายอารามแห่งนี้ การประชุมครั้งนั้นคงยังต้องนั่งประชุมกันตามลานในป่าไผ่ เนื่องจากเสนาสนะหรือโรงธรรมสภาขนาดใหญ่ยังคงไม่ได้สร้างขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป เป็นลานกว้างลานเดียวในบริเวณวัดที่ไม่มีโบราณสถานอื่นตั้งอยู่) โดยได้นำพระพุทธรูปยืนปางประทานพรไปประดิษฐานไว้บริเวณซุ้มเล็ก ๆ กลางลาน และเรียกว่า "ลานจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริงอยู่ในจุดใด และยังคงมีชาวพุทธบางกลุ่มสร้างซุ้มพระพุทธรูปไว้ในบริเวณอื่นของวัดโดยเชื่อว่าจุดที่ตนสร้างนั้นเป็นลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริง แต่พุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่ก็เชื่อตามข้อสันนิษฐานของกองโบราณคดีอินเดียดังกล่าว โดยนิยมนับถือกันว่าซุ้มพระพุทธรูปกลางลานนี้เป็นจุดสักการะของชาวไทยผู้มาแสวงบุญจุดสำคัญ 1 ใน 2 แห่งของเมืองราชคฤห์ (อีกจุดหนึ่งคือพระมูลคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏ)[18]

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น[2] ปฏิ

โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกัน ปฏิบัติภาวนา ใน วันพระอุโบสถ ซึ่งเป็น หน้าที่ ตามปกติของชาวพุทธ กล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันมาฆบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ (โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันมาฆบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด (ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้

  1. บทบูชาพระรัตนตรัย (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
  2. บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า (นะโม ฯลฯ ๓ จบ)
  3. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)
  4. บทสรรเสริญพระพุทธคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
  5. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)
  6. บทสรรเสริญพระธรรมคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
  7. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)
  8. บทสรรเสริญพระสังฆคุณ สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
  9. บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา (บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อัชชายัง ฯลฯ)[19]

จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี

การกำหนดให้วันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย

 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ดำริให้มีพิธีมาฆบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกของไทย

การประกอบพิธีในวันมาฆบูชาได้เริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าวันนี้เป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนา คือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ฯลฯ ควรจะได้มีการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยในครั้งแรกนั้นได้ทรงกำหนดเป็นเพียงการพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลเป็นการภายใน แต่ต่อมาประชาชนก็ได้นิยมนำพิธีนี้ไปปฏิบัติสืบต่อมาจนกลายเป็นวันประกอบพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งไป

เนื่องจากในประเทศไทย พุทธศาสนิกชนได้มีการประกอบพิธีในวันมาฆบูชาสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และนับถือกันโดยพฤตินัยว่าวันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยมาตั้งแต่นั้น[20] โดยเมื่อถึงวันนี้พุทธศาสนิกชนจะร่วมใจกันประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ กันเป็นงานใหญ่ ดังนั้นเมื่อถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงทรงประกาศให้วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์[1] สำหรับชาวไทยจะได้ร่วมใจกันบำเพ็ญกุศลในวันมาฆบูชาโดยพร้อมเพรียง

ในปัจจุบันยังคงปรากฏการประกอบพิธีมาฆบูชาอยู่ในประเทศไทยและประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เช่น ลาว และกัมพูชา (ซึ่งเป็นส่วนที่ไทยได้เสียให้แก่ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5) โดยไม่ปรากฏว่ามีการประกอบพิธีนี้ในประเทศพุทธมหายานอื่นหรือประเทศพุทธเถรวาทนอกนี้ เช่น พม่า และศรีลังกา ซึ่งคงสันนิษฐานได้ว่า พิธีมาฆบูชานี้เริ่มต้นจากการเป็นพระราชพิธีของราชสำนักไทยและได้ขยายไปเฉพาะในเขตราชอาณาจักรสยามในเวลานั้น ต่อมาดินแดนไทยในส่วนที่เป็นประเทศลาวและกัมพูชาได้ตกเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส และได้รับเอกราชในเวลาต่อมา พุทธศาสนิกชนในประเทศทั้งสองที่ได้รับคตินิยมการปฏิบัติพิธีมาฆบูชาตั้งแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม คงได้ถือปฏิบัติพิธีมาฆบูชาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้มีการยกเลิก จึงทำให้คงปรากฏพิธีมาฆบูชาในประเทศดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน

วันมาฆบูชาในปฏิทินสุริยคติ

ปีวันที่วันที่วันที่
ปีชวด 4 มีนาคม พ.ศ. 2539 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
ปีฉลู 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
ปีขาล 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
ปีเถาะ 1 มีนาคม พ.ศ. 2542 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 6 มีนาคม พ.ศ. 2566
ปีมะโรง 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 7 มีนาคม พ.ศ. 2555 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567
ปีมะเส็ง 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
ปีมะเมีย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 4 มีนาคม พ.ศ. 2569
ปีมะแม 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 4 มีนาคม พ.ศ. 2558 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2570
ปีวอก 5 มีนาคม พ.ศ. 2547 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2571
ปีระกา 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2572
ปีจอ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 1 มีนาคม พ.ศ. 2561 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2573
ปีกุน 3 มีนาคม พ.ศ. 2550 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 8 มีนาคม พ.ศ. 2574

การประกอบพิธีทางศาสนาในวันมาฆบูชา

พระราชพิธี

 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวันมาฆบูชานี้ โดยปกติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช เป็นองค์ประธานในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทน โดยสถานที่ประกอบพระราชพิธีจะจัดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำนักพระราชวังจะออกหมายกำหนดการประกาศการพระราชพิธีนี้ให้ทราบทั่วไปเป็นประจำทุกปี ในอดีตจะใช้ชื่อเรียกการพระราชพิธีในราชกิจจานุเบกษาแตกต่างกัน บางครั้งจะใช้ชื่อ "การพระราชกุศลมาฆบูชาจาตุรงคสันนิบาต"[21] หรือ "การพระราชกุศลมาฆบูชา"[22] หรือแม้ "มาฆบูชา"[23] ส่วนในรัชกาลปัจจุบัน สำนักพระราชวังจะใช้ชื่อเรียกหมายกำหนดการที่ชัดเจน เช่น "หมายกำหนดการ พระราชกุศลมาฆบูชา พุทธศักราช ๒๕๒๒"[24]

รายละเอียดการประกอบพระราชพิธีนี้ในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน[25] ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับการพระราชพิธีในเดือนสาม คือพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลในวันมาฆบูชาไว้ มีใจความว่า

“เวลาเช้า พระสงฆ์วัดบวรนิเวศและวัดราชประดิษฐ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัด แล้วจึงได้สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาฏิโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงมีเทศนาโอวาทปาฏิโมกข์กัณฑ์ ๑ เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน ๓ ตำลึงและขนมต่าง ๆ เทศน์จบพระสงฆ์สวดมนต์รับสัพพี ๓๐ รูป”[26]

ในรัชกาลต่อมาได้มีการลดทอดพิธีบางอย่างออกไปบ้าง เช่น ยกเลิกการถวายภัตตาหารพระสงฆ์ในเวลาเช้า หรือการจุดเทียนราย 1,250 เล่ม เป็นต้น แต่ก็ยังคงมีการบำเพ็ญพระราชกุศลในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนเคย โดยในบางปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจะทรงประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชาและทรงเวียนเทียนรอบพุทธศาสนสถานเป็นการส่วนพระองค์ตามพระอารามหลวงหรือวัดราษฎร์อื่น ๆ บ้าง ตามพระราชอัธยาศัย[27] ซึ่งการพระราชพิธีนี้เป็นการแสดงออกถึงพระราชศรัทธาอันแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา ขององค์พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภ์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

พิธีสามัญ

 
วันมาฆบูชา บางครั้งเรียกกันในภาษาปากว่า วันเวียนเทียน เพราะเป็นวันที่ชาวพุทธในประเทศไทยนิยมไปทำบุญและเวียนเทียนรอบพุทธศาสนสถานที่วัดในเวลาค่ำของวันนี้

การประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันมาฆบูชาของพุทธศาสนิกชนชาวไทย โดยทั่วไปนิยมทำบุญตักบาตร ปฏิบัติภาวนา ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบอุโบสถหรือสถูปเจดีย์พุทธสถานต่าง ๆ ภายในวัด เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3

พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมนับถือเอาวันนี้เป็นวันสำคัญในการละเว้นความชั่ว บำเพ็ญความดี ทำใจให้ผ่องใส ตามแนวทางพระบรมพุทโธวาท โดยมีแนวปฏิบัติในการประกอบพิธีในวันมาฆบูชาคล้ายกับการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา คือมีการตั้งใจบำเพ็ญกุศลทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนาและเจริญจิตตภาวนาในวันนี้ เมื่อตกกลางคืนก็มีการเวียนเทียนถวายเป็นพุทธบูชาตามอารามต่าง ๆ และอาจมีการบำเพ็ญปกิณณกะกุศลต่าง ๆ ตลอดคืนตามแต่จะเห็นสมควร

การประกอบพิธีวันมาฆบูชาในปัจจุบันนี้นอกจากการเวียนเทียน ทำบุญตักบาตร ในวันสำคัญแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางศาสนา และภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน เช่น กิจกรรมสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนาวันมาฆบูชา ณ ท้องสนามหลวง หรือตามวัดในจังหวัดต่าง ๆ เป็นต้น

 

วันสำคัญอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับวันมาฆบูชา

วันคล้ายวันปลงพระชนมายุสังขาร

ดูบทความหลักที่: การปลงพระชนมายุสังขาร
 
ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี สถานที่ ๆ พระพุทธองค์ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขารในวันเพ็ญเดือนสามแห่งพรรษาสุดท้ายของพระชนมชีพ

นอกจากเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตในวันเพ็ญเดือน 3 ในพรรษาแรกของพระพุทธเจ้าแล้ว ในวันเพ็ญเดือน 3 แห่งพรรษาสุดท้ายของพระพุทธเจ้า (คราวที่ทรงพระชนมายุ 80 พรรษา) ก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ พระพุทธองค์ได้ทรง ปลงพระชนมายุสังขาร พระศาสดาเสด็จพักผ่อนกลางวัน ณ ปาวาลเจดีย์ ทรงแสดงนิมิตโอภาสแก่พระอานนท์ว่า ผู้ใดเจริญอิทธิบาท 4 ประการ อาจมีอายุยืนได้ถึงกัป แต่พระอานนท์มิได้ทูลอาราธนา เมื่อพระอานนท์ออกไป มารจึงได้มาอาราธนาให้นิพพาน พระองค์ทรงมีสติสัมปชัญญะ ปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ว่า อีก 3 เดือนจะเสด็จปรินิพพาน เกิดเหตุแผ่นดินไหว เมื่อพระอานนท์ทราบ จึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงพระชนม์ชีพอยู่อีก แต่พระศาสดาตรัสว่า มิใช่กาล เพราะได้ทรงแสดงนิมิตแล้วถึง 16 ครั้ง ทรงทำนายว่าในวันเพ็ญเดือน 6 ที่จะมาถึง พระองค์จะเข้าสู่มหาปรินิพพาน จึงถือได้ว่าวันมาฆบูชาเป็น วันคล้ายวันสำคัญของพระพุทธศาสนาสองเหตุการณ์สำคัญ คือวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ และวันที่ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขาร

หมายเหตุ:โดยทั่วไปจะทราบแต่เพียงว่าวันนี้เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เท่านั้น

วันกตัญญูแห่งชาติ (ประเทศไทย)

ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา (ที่อาจถือได้ว่าเป็นวันแห่งความรักของพระพุทธศาสนา) โดยถือว่าเหตุการณ์สำคัญที่เหล่าพระสาวกทั้ง 1,250 รูป ได้กลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยความรักในพระองค์หลังจากได้ออกไปเผยแพร่พระศาสนาโดยมิได้นัดหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีอันบริสุทธิ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาในปฏิทินจันทรคติในวันเพ็ญเดือนสาม มักจะตกใกล้กับช่วง"เทศกาลวาเลนไทน์" อันเป็นเทศกาลวันแห่งความรักของคริสต์ศาสนา ซึ่งวัยรุ่นไทยบางกลุ่มมักยึดถือคติค่านิยมวันแห่งความรักในวันวาเลนไทน์ผิด ๆ โดยนิยมยึดถือกันว่าเป็นวันแห่งความรักของคนหนุ่มสาว หรือแม้กระทั่งถือว่าเป็น "วันเสียตัวแห่งชาติ"[28] ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่านิยมทางจริยธรรมและศีลธรรมของวัยรุ่นไทย รัฐบาลไทยในสมัยนั้นจึงได้ประกาศให้วันมาฆบูชาเป็นวันกตัญญูแห่งชาติ "เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่เหมาะสมแก่วัยรุ่นไทย ให้หันมาสนใจกับความรักอันบริสุทธิ์ที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน" แทนที่จะไปมัวเมากับความรักใคร่ชู้สาวหรือเรื่องฉาบฉวยทางเพศของหนุ่มสาว อันจะก่อให้เกิดปัญหาแก่สังคมตามมา

การผลักดันให้มีวันกตัญญูแห่งชาติมีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2546 เคยมีการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณากำหนดให้มีวันกตัญญูแห่งชาติ แต่ถูกปฏิเสธจากผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างว่า ในประเทศไทยมีวันสำคัญแห่งชาติที่เกี่ยวกับการแสดงความกตัญญูมากพอแล้ว[29] ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 นักพูดชื่อดังหลายคน เช่น ดร.ผาณิต กันตามระ นายสุรวงศ์ วัฒนกุล ดร.อภิชาติ ดำดี นายเฉลิมชัย จารุไพบูลย์ ดร.โอภาส กิจกำแหง และนายถาวร โชติชื่น ได้ร่วมกันทำหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติขอให้ส่งเสริมให้วันมาฆบูชาเป็นวันกตัญญูแห่งชาติอีกวันหนึ่งด้วย และได้รับการตอบรับจากผู้เกี่ยวข้อง[30]

วันกตัญญูแห่งชาตินี้ นอกจากเพื่อแสดงออกถึงวันแห่งความรักอันบริสุทธิ์ของชาวพุทธแล้ว ยังเพื่อส่งเสริมค่านิยมให้คนไทยยึดถือความกตัญญู โดยอาจมีการพูดคุย ส่งบัตรอวยพร มอบของขวัญหรือช่อดอกไม้แก่ผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงความระลึกถึงพระคุณด้วยความหวังดีของผู้ให้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ การแสดงออกซึ่งน้ำใจหรือคำพูดก็ตาม

Visitors: 258,612